การหย่า วันศุกร์, ม.ค. 7 2011 

การหย่า

การหย่านั้นถือเป็นการสิ้นสุดการสมรส การหย่าทำได้ 2 วิธี คือ

1.หย่าโดยความยินยอม คือ กรณีที่ทั้งคู่ตกลงที่จะหย่ากันได้เอง กฎหมายบังคับว่า การหย่าโดยความยินยอมนั้นต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงรายมือชื่อย่างน้อย 2 คน และถ้าการสมรสนั้นมีการจดทะเบียนสมรส(ตามกฎหมายปัจจุบัน)การหย่าก็ต้องไปจดทะเบียนหย่าต่อนายทะเบียนที่อำเภอหรือกิ่งอำเภอด้วย มิฉะนั้นการหย่าย่อมไม่สมบูรณ์

1.1 การหย่าโดยความยินยอมทั้ง 2 ฝ่าย ณ สำนักงานทะเบียนเดียวกับสถานที่แจ้ง ให้กระทำ ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตแห่งใดก็ได้

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง

1.   หนังสือข้อตกลงการหย่าหรือสัญญาการหย่า ซึ่งมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อย 2 คน

2.   บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวข้าราชการของทั้งสองฝ่าย

3.   ใบสำคัญการสมรสทั้ง 2 ฉบับ

4.   พยานบุคคล 2 คน ถ้าไม่มีนายทะเบียนจะหาให้แต่ต้องเสียค่าป่วยการพยาน 2.50 บาท

5.   ค่าธรรมเนียมไม่ต้องเสียเว้นแต่ค่าป่วยการพยานที่นายทะเบียนหาให้ 2.50 บาท

1.2 การหย่าโดยความยินยอมทั้งสองฝ่าย ต่างสำนักงานทะเบียนที่แจ้งให้กระทำ ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตแห่งใดก็ได้ โดยต่างฝ่ายต่างยื่นคำร้อง ณ สำนักงานทะเบียนที่ตนสะดวก

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง

1.      บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวข้าราชการทั้งสองฝ่าย

2.      ใบสำคัญการสมรสทั้ง 2 ฉบับ

3.      หนังสือยินยอมการหย่า ซึ่งพยานลงชื่อการหย่าอย่างน้อย 2 คน

4.      ค่าธรรมเนียมไม่ต้องเสีย เว้นแต่ค่าป่วยการพยาน 2.50 บาท

2.หย่าโดยคำพิพากษาของศาล กรณีคู่สมรสฝ่ายหนึ่งประสงค์จะหย่า แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการหย่าจึงต้องมีการฟ้องหย่าขึ้น เหตุที่จะฟ้องหย่าได้คือ
2.1 สามีอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องหญิงอื่นเป็นภริยาหรือภริยามีชู้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
2.2 สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติเช่นนั้นเป็นความผิด อาญาหรือไม่ ถ้าความประพฤติเช่นนั้นเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
– ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
– ได้รับความดูถูกเกลียดชัง หากยังคงสถานะของความเป็นสามีภริยากันต่อไป
– ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา มาคำนึงประกอบอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

คำว่า “ประพฤติชั่ว” เช่น สามีเป็นนักเลงหัวไม้ เที่ยวรังแกผู้อื่น เล่นการพนัน หรือสูบฝิ่น กัญชา เป็นต้น

1.3   สามีหรือภริยาทำร้ายหรือทรมานร่างกายหรือจิตใจหมิ่นประมาทหรือ เหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องเป็นการร้ายแรงด้วย อีกฝ่ายจึงจะฟ้องหย่าได้

1.4  สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

การละทิ้งร้างนี้ หมายถึง การที่ฝ่ายหนึ่งจงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่ง แต่หากไม่เป็นการจงใจ เช่น ต้องติดราชการทหารไปชายแดน เช่นนี้ไม่ถือเป็นการทิ้งร้าง

1.5   ฝ่ายหนึ่งต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกจำคุกเกิน ๑ ปี โดยที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนในความผิด หรือยินยอมหรือรู้เห็นเห็นใจ และการเป็นสามีภริยากันจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อยเกินควร อีกฝ่ายฟ้องหย่าได้

1.6  สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่ตลอดมาเกิน ๓ ปี หรือแยกกันอยู่ ตามคำสั่งเป็นเวลาเกิน ๓ ปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

1.7   สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือ ถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกิน 3 ปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

1.8    สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลือ อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง ตามสมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีหรือภริยาอย่างร้ายแรง แต่การกระทำนั้นต้องถึงขนาดที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนโดยเอาสภาพ ฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

1.9     สามีหรือภริยาเป็นบ้าตลอดมาเกิน ๓ ปี และความเป็นบ้านนั้น มีลักษณะยากที่จะหายได้ และความเป็นบ้าต้องถึงขนาดที่ จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

1.10  สามีหรือภริยาทำผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือ ในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ เช่น สามีขี้เหล้า ชอบเล่นการพนัน ย่อมทำหนังสือทัณฑ์บนไว้กับภริยาว่าตนจะไม่ประพฤติเช่นนั้นอีก แต่ต่อมากลับฝ่าฝืน เช่นนี้ ภริยาฟ้องหย่าได้

1.11   สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง ซึ่งอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่ง นอกจากนี้โรคดังกล่าว ต้องมีลักษณะเรื้อรัง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

1.12  สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจ ร่วมประเวณีได้ตลอดกาล คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

ผลของการหย่า

1. ผลของการหย่าโดยความยินยอม การหย่าโดยความยินยอมนั้น ถ้าการสมรสเป็นการสมรสที่ไม่ต้องจดทะเบียน (การสมรสตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย) การหย่าโดยความยินยอมก็มีผลทันทีที่ทำเป็นหนังสือถูกต้อง และลงลายมือชื่อทั้ง 2 ฝ่าย พร้อมทั้งมีพยานรับรอง 2 คน แต่ถ้าการสมรสนั้นเป็นการสมรสที่ต้องจดทะเบียน (ตามบรรพ 5) การหย่าโดยความยินยอมนั้นนอกจากจะต้องทำเป็นหนังสือแล้ว ยังต้องไปจดทะเบียนหย่าที่อำเภออีกด้วย การหย่าจึงจะมีผลตามกฎหมาย                                                                —  – ผลของการหย่าต่อบุตร คือ ใครจะเป็นผู้ปกครองบุตร ตามกฎหมาย ให้ตกลงกันเองได้ ถ้าตกลงกันไม่ได้ หรือไม่ได้ตกลง ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ใครจะเป็นคนจ่ายก็เช่นกันคือให้ตกลงกันเองว่า ใครจะเป็นผู้จ่าย ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด

– ผลเกี่ยวกับสามีภริยา ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาสิ้นสุดลงทันที และไม่มีหน้าที่ใด ๆ ต่อกันเลย

– ผลเกี่ยวกับทรัพย์สิน ให้แบ่งทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสระหว่างสามีภริยาคนละครึ่ง โดยเอาจำนวนทรัพย์ที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่าเป็นเกณฑ์

2. ผลของการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล การหย่าโดยคำพิพากษาของศาลนั้นมีผลตั้งแต่เวลาที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด แม้จะยังไม่จดทะเบียนหย่าก็ตาม ดังนั้น ความเป็นสามีภริยาจึงขาดลงตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป

– ผลเกี่ยวกับบุตร  ใครเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ปกติแล้วฝ่ายชนะคดีจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง แต่ศาลอาจกำหนดเป็นอย่างอื่นก็ได้ ส่วนเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดู ศาลเป็นผู้กำหนด
– ผลเกี่ยวกับคู่สมรส แม้กฎหมายจะถือว่า การสมรสสิ้นสุดลงนับแต่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดก็ตาม แต่ในระหว่างคู่สมรสก็เกิดผลทางกฎหมายบางประการคือ

1. มีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้จากสามีที่อุปการะหญิงอื่นหรือจากภริยาที่มีชู้และจากชายชู้หรือหญิงอื่นแล้วแต่กรณี  และค่าทดแทนเพราะเหตุหย่าตามข้อ ๓.๒ (๓), (๔), (๘) โดยเป็นเพราะความผิดของอีกฝ่ายหนึ่ง

2. มีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ ต้องเข้าหลักเกณฑ์คือเหตุแห่งการหย่านั้นเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพียงอย่างเดียว และการหย่านั้นทำให้อีกฝ่ายยากจนลง เพราะไม่มีรายได้จากทรัพย์สิน หรือการงานที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส แต่อย่างไรก็ตาม สิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพนี้กฎหมาย กำหนดว่า จะต้องฟ้องหรือฟ้องแย้งมาในคดีที่ฟ้องหย่าด้วย มิฉะนั้นก็หมดสิทธิ

การหมั้น วันศุกร์, ม.ค. 7 2011 

การหมั้น

การหมั้น เป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงตกลงกันว่า ชายและหญิงคู่หมั้นจะทำการสมรสกันในอนาคต สัญญาหมั้นไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีให้อีกฝ่ายหนึ่งทำการสมรสได้ ถึงแม้ว่าจะมีข้อตกลงในเรื่องเบี้ยปรับกันเอาไว้ ข้อตกลงนั้นก็เป็นอันใช้บังคับไม่ได้

ตัวอย่าง นายแดง และนางสาวสร้อยศรีได้ทำการหมั้นกัน ต่อมา นางสาวสร้อยศรีเห็นว่านายแดงยากจนไม่อยากจะสมรสด้วย ที่ตกลงรับหมั้น ในตอนแรกนั้นเพราะคิดว่านายแดง เป็นคนมีฐานะดี นายแดงจะมาขออำนาจ ศาลบังคับให้นางสาวสร้อยศรีทำการสมรสกับตนไม่ได้ เพราะในเมื่อฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายใดไม่สมัครใจที่จะเป็นสามีภริยากันแล้ว หากว่าบังคับให้ทำการสมรสกัน ก็จะก่อให้เกิดปัญหาในครอบครัวอย่างแน่นอน

บุคคลที่จะหมั้นกันได้นั้น ทั้งชายและหญิงจะต้องมีอายุอย่างน้อยสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ กฎหมายกำหนดอายุของทั้ง 2 คน ว่าแต่ละคนต้องมีอายุ ขั้นต่ำ 17 ปีบริบูรณ์ ดังนั้นหากชายอายุ 17 ปี หมั้นกับหญิงอายุ 15 ปี การหมั้นย่อมเป็นโมฆะ

เราคงได้ยินกันเสมอว่า บางคนเกิดมาก็มีคู่หมั้นอยู่แล้ว พ่อแม่เป็นคนหมั้นไว้ให้ตั้งแต่บุตรยังอยู่ในท้อง เพื่อไม่ให้เงินทองรั่วไหลไปไหน แต่ในแง่กฎหมายแล้ว การหมั้นยังไม่ได้เกิดขึ้น เพราะในขณะทำการหมั้นนั้นชายและ หญิงอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์

บุคคลบางประเภทแม้มีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ทำการหมั้นกันไม่ได้เลย บุคคลประเภทนี้ได้แก่
–  คนวิกลจริต คนบ้า หรือคนที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
–  บุคคลผู้เป็นบุพการี (พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด) จะหมั้นกับผู้สืบสันดาน (ลูก หลาน เหลน ลื้อ) ไม่ได้
–  บุคคลที่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือร่วมแต่มารดา หรือบิดาเพียงอย่างเดียว
–  บุคคลที่มีคู่สมรสอยู่แล้ว    บุคคลที่จะให้ความยินยอมแก่ผู้เยาว์ในการทำการหมั้นได้แก่
บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดาและมารดา
–  บิดาหรือมารดาเพียงคนใดคนหนึ่ง ในกรณีที่อีกคนหนึ่งถึงแก่กรรม หรือถูกถอนอำนาจปกครองหรือไม่อยู่ในสภาพ หรือฐานะที่อาจให้ ความยินยอมหรือโดยพฤติการณ์ผู้เยาว์ ไม่อาจขอความยินยอมจากมารดา หรือบิดาได้
–  ผู้รับบุตรบุญธรรมให้ความยินยอมแก่ผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรม
–  มารดา ในกรณีที่บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน
–  ผู้ปกครองในกรณีที่ไม่มีบุคคลซึ่งอาจให้ความยินยอมโดยตรง หรือมีบุคคลดังกล่าวแต่ถูกถอนอำนาจปกครอง

การหมั้นที่ปราศจากการให้ความยินยอมในกรณีที่ต้องให้ความยินยอม นั้นเป็นการหมั้นที่ไม่สมบูรณ์อาจถูกเพิกถอนได้

ของหมั้น

ของหมั้น คือ ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายได้ให้ไว้แก่ฝ่ายหญิงในขณะทำการหมั้นเพื่อเป็นหลักฐานการหมั้น และประกันว่าจะสมรสกับหญิง

ตามประเพณีของไทยเรานั้น ฝ่ายชายเป็นฝ่ายที่นำของหมั้นไปให้แก่ฝ่ายหญิง ที่กล่าวว่าฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงนั้นไม่ได้หมายความเฉพาะชายหญิงคู่หมั้นเท่านั้น แต่ยังหมายถึงบุคคลอื่น ๆ ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับชายหรือ หญิงคู่หมั้นด้วย เช่น บิดามารดา ผู้ปกครอง หากบุคคลเหล่านี้ทำการหมั้น แทนชายหรือหญิง การหมั้นจะผูกพันชายหรือหญิงต่อเมื่อชายหรือหญิงคู่หมั้นตกลงยินยอมในการหมั้นนั้นด้วย

ตัวอย่าง นายแดงอายุ 22 ปี รักนางสาวสุชาดา ซึ่งมีอายุ 19 ปี เป็นอันมาก แต่เนื่องจากนางสาวสุชาดา ไม่ชอบตน นายแดงจึงไปขอหมั้น นางสาวสุชาดากับนางสร้อย มารดาของนางสาวสุชาดา โดยที่นางสาวสุชาดา ไม่ได้รู้เห็นยินยอมแต่อย่างใด นางสร้อยได้ตกลงรับหมั้นนายแดง และนายแดงได้ส่งมอบแหวนเพชรให้เป็นของหมั้นในวันนั้น หากนางสาวสุชาดาไม่ยอมทำการสมรสกับนายแดงไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ นายแดงจะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนางสาวสุชาดาไม่ได้ เพราะสัญญาหมั้นรายนี้นางสาวสุชาดาไม่ได้เป็นคู่สัญญาแต่อย่างใด ของหมั้นนั้นจะต้องมีการหมั้นและส่งมอบของหมั้นในขณะทำการหมั้น

ตัวอย่าง

คำพิพากษาฎีกาที่ 1852/2506 จำเลยขอหมั้นน้องสาวโจทก์เพื่อ ให้แต่งงานกับบุตรจำเลยแต่จำเลยไม่มีเงิน จึงทำสัญญากู้ให้โจทก์ยึดถือไว้ ต่อมาบุตรจำเลยไม่ยอมแต่งงานกับน้องสาวโจทก์ โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินตาม สัญญากู้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญากู้ดังกล่าวนี้ เป็นเพียงสัญญาที่จะให้ ทรัพย์สินในวันข้างหน้า ยังไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินให้แก่กันอย่างแท้จริง เจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาก็มิได้มุ่งต่อการให้สัญญากู้ตกเป็นของอีกฝ่ายหนึ่ง ในสภาพของหมั้น และไม่มีความประสงค์ให้ตกเป็นสิทธิของหญิงเมื่อได้ทำ การสมรสแล้ว ในกรณีเช่นนี้ถือไม่ได้ว่า ได้มีการให้ของหมั้นกันตามกฎหมาย แล้วโจทก์จะฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ไม่ได้ เพราะสัญญากู้รายนี้ไม่มีหนี้เดิมต่อกัน

ในกรณีเช่นนี้ถือว่าสัญญากู้เป็นเพียงสัญญาที่จะให้ทรัพย์สินเป็นของหมั้นในอนาคต

สินสอด


สินสอด เป็นทรัพย์สิน ซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตร บุญธรรม หรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิง เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส
บุคคลที่อยู่ในฐานะจะรับสินสอดได้คือ
–  บิดามารดาของหญิง
–  ผู้ปกครองของหญิง

ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง หรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายชายต้องรับผิดชอบ ชายสามารถเรียกสินสอดคืนได้ แต่ถ้าเหตุที่ไม่มีการสมรสนั้นเกิดจากความผิดของฝ่ายชายแล้ว ชายไม่มีสิทธิเรียกคืนสินสอดมีลักษณะแตกต่างจากของหมั้นที่ว่า ของหมั้นต้องมีการส่ง มอบให้แก่ฝ่ายหญิงในขณะที่ทำการหมั้น แต่สินสอดนั้นจะส่งมอบให้แก่บุคคล ที่มีสิทธิจะรับเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมทำการสมรสกับตน หากว่าได้ให้ทรัพย์สินเป็นเพียงเพื่อแก้หน้าบิดามารดาของ ฝ่ายหญิงที่ตนพาลูกสาวของเขาหนีแล้ว ทรัพย์สินนั้นไม่ใช่สินสอด แม้ต่อมาภายหลังไม่มีการสมรสชายจะเรียกคืนไม่ได้ เพราะสิ่งของที่ให้กันนั้นกฎหมายไม่ถือว่าเป็นสินสอด

คำพิพากษาฎีกาที่ 126/2518 เงินที่ชายให้แก่มารดาหญิงเพื่อ ขอขมาในการที่หญิงตามไปอยู่กินกับชาย โดยชายหญิงไม่มีเจตนาจะสมรสกัน ตามกฎหมาย ไม่ใช่สินสอดหรือของหมั้น เมื่อต่อมาหญิงไม่ยอมอยู่กินกับ ชาย ชายเรียกคืนไม่ได้

การผิดสัญญาหมั้น

ถ้าชายหรือหญิงคู่หมั้น ไม่ยอมทำการสมรสกับคู่หมั้นของตนโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ถือว่าคู่หมั้นฝ่ายนั้นผิดสัญญาหมั้น

เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาหมั้น เช่นหญิงมีคู่หมั้นอยู่แล้วไปทำการสมรสกับชายอื่นที่ไม่ใช่คู่หมั้นของตน หรือหนีตามชายอื่นไป ชายคู่หมั้น จะฟ้องร้องต่อศาลให้ศาลบังคับให้หญิงทำการสมรสกับตนไม่ได้ เพราะการ สมรสนั้นต้องเกิดจากความสมัครใจ ศาลจะใช้อำนาจไปบังคับให้ชายและหญิง ทำการสมรสกันไม่ได้ แม้ว่าจะมีการตกลงกันว่าถ้าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา หมั้นจะให้ปรับเป็นจำนวนเท่าใด ข้อตกลงนั้นก็ใช้บังคับกันไม่ได้

แต่คู่หมั้นซึ่งเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ต้องรับผิดจ่ายค่าทดแทนดังต่อไปนี้
– ค่าทดแทนความเสียหายต่อกาย หรือชื่อเสียง
– ค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้น เนื่องจากคู่หมั้น บิดามารดา หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะ เช่น บิดามารดาได้ใช้จ่าย หรือตกเป็นลูกหนี้ เนื่องจากการเตรียมการสมรสโดยสุจริต และตามสมควร เช่น ฝ่ายหญิงได้ซื้อ เครื่องนอน เครื่องครัวไว้แล้ว ชายไปแต่งงานกับหญิงอื่น ชายต้องรับผิดในค่าใช้จ่ายเหล่านี้
– ค่าทดแทนความเสียหาย เนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการ ทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวกับอาชีพ หรือทางทำมาหาได้ของตนไปโดย สมควรด้วยการคาดหมายว่าจะมีการสมรส

ตัวอย่าง สำหรับค่าทดแทนที่ 3 นายแดงอยู่กรุงเทพฯ หมั้นกับนางสาวนุสรา ซึ่งมีอาชีพเป็นพยาบาลอยู่ต่างจังหวัด มีการกำหนดวันที่จะทำการสมรส นางสาวนุสราจึงลาออกจากพยาบาลเพื่อที่จะเป็นแม่บ้าน เมื่อนางสาวนุสราได้ลาออกจากการเป็นพยาบาลแล้ว นายแดงไม่ยอมทำการสมรสด้วย เนื่องจากได้ไปสมรสกับผู้หญิงอื่น เช่นนี้นายแดงต้องรับผิด ใช้ค่าทดแทนความเสียหาย อันเกิดจากการที่นางสาวนุสราลาออกจากงาน (สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนนี้ มีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันผิดสัญญาหมั้น)

ในกรณีที่หญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น หญิงต้องคืนของหมั้นให้แก่ฝ่ายชาย ถ้าฝ่ายชายเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นแล้ว หญิงไม่ต้องคืนของหมั้น

การสมรส วันศุกร์, ม.ค. 7 2011 

การสมรส


การสมรส หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกกันว่า “แต่งงาน” นั้นก็คือ การที่ชายหญิง 2 คน ตกลงปลงใจที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันฉันสามีภริยา ซึ่งตามกฏหมายปัจจุบันนั้น กำหนดว่าการสมรสต้องมีการจดทะเบียนสมรส จึงจะมีผลตามกฏหมาย ดังนั้น ถ้าไม่มีการจดทะเบียนสมรส แม้จะมีการจัดงานพิธีมงคลสมรสใหญ่โตเพียงใด กฏหมายก็ไม่ถือว่าชายหญิงคู่นั้นได้ทำการสมรสกันเลย

การจดทะเบียนสมรสนั้น ให้ไปจดกับนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ เลย และต้องมีการแสดงถึงความยินยอมของทั้ง 2 ฝ่าย ว่าต้องการที่จะทำการสมรสกันต่อหน้านายทะเบียนด้วย แล้วให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้

ปกติแล้ว การสมรสจะมีผลตามกฏหมายเมื่อได้มีการจดทะเบียนแล้ว แต่ในกรณีพิเศษ เช่น ถ้ามีสงครามเกิดขึ้น ทำให้ชายหญิงไม่สามารถไปจดทะเบียนที่อำเภอได้ ในกรณีนี้ ชายหญิงคู่นั้นอาจตกลงที่จะสมรสกัน ต่อหน้าบุคคลที่บรรลุนิติภาวะ (มีอายุ 20 ปี บริบูรณ์) ที่อยู่ในที่นั้น และต่อมาเมื่อสงครามสงบ ชายหญิงคู่นั้นก็ต้องไปทำการจดทะเบียนสมรสภายใน 20 วัน ซึ่งกรณีนี้ กฏหมายถือว่า ชายหญิงคู่นี้ ได้ทำการสมรสกันมาตั้งแต่วันแรกที่ได้ตกลงสมรสกัน

ประโยชน์ของการจดทะเบียนสมรส

การจดทะเบียนสมรสนั้น นอกจากกฏหมายจะถือว่า ชายหญิงคู่นั้น ได้เป็นสามีภริยากันตามกฏหมายแล้ว ยังมีผลที่ตามมาอีกหลายประการ เช่น

1.      เป็นหลักประกันความมั่นคงได้ว่า ถ้าได้มีการจดทะเบียนแล้ว คู่สมรสอีกฝ่ายจะไปจดทะเบียนสมรสอีกไม่ได้ ถ้าฝ่าฝืนไปทำการจดทะเบียนเข้า ผลคือ การจดทะเบียนสมรสครั้งนี้ กฏหมายถือว่า เป็น โมฆะ (ใช้ไม่ได้) ผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่ง จะแจ้งให้นายทะเบียนเพิกถอน หรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาก็ได้ นอกจากนี้ คู่สมรสฝ่ายที่ไปจดทะเบียนซ้อน ก็อาจมีความผิดฐานแจ้งความเท็จด้วย

2.      ได้รับการลดหย่อนค่าภาษีเงินได้

3.      ในกรณีที่เป็นความผิดที่กระทำระหว่างสามีภรรยา เช่น สามี หรือภริยา ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งลักทรัพย์ของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือในความผิดฐานอื่น เช่น ฉ้อโกง ยักยอก ทำให้เสียทรัพย์ หรือบุกรุก ซึ่งมีผลคือ สามีหรือภริยา นั้นไม่ต้องรับโทษตามกฏหมาย

4.      ในเรื่องอำนาจในการดำเนินคดีอาญาแทน ถ้าสามีภริยาถูก ทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถฟ้องคดีได้เอง ภริยาหรือสามีที่ยังมีชีวิตอยู่ (ที่ได้จดทะเบียนตามกฏหมาย) สามารถร้องทุกข์ (แจ้งความ) ต่อตำรวจหรือฟ้องศาลแทนได้ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องเป็นกรณีที่ผู้ตายหรือผู้บาดเจ็บไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย นอกจากนี้ ในคดีหมื่นประมาทที่กระทำต่อสามีหรือภริยา ถ้าต่อมาสามีหรือภริยานั้นได้ตาย ก่อนร้องทุกข์ (แจ้งความ) ภริยาหรือสามีที่ยังมีขีวิตอยู่ก็ร้องทุกข์หรือ ฟ้องหมิ่นประมาทได้เองด้วย เพราะกฏหมายให้ถือว่า เป็นผู้เสียหาย

5.      ถ้าคู่สมรสเป็นผู้เยาว์ที่มีอายุ ๑๗ ปีขึ้นไป เมื่อได้จดทะเบียนสมรสแล้ว กฏหมายถือว่า ผู้นั้นได้บรรลุนิติภาวะแล้ว และสามารถทำกิจการงานต่างๆ ได้เอง โดยไม่ต้องเป็นได้รับความยินยอมจากบิดามารดา หรือผู้ปกครอง และแม้จะหย่ากันก่อนอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ก็ยังคงเป็นผู้บรรลุนิติภาวะอยู่

คุณสมบัติของผู้ที่จะขอจดทะเบียนสมรส

1.      มีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์

2.      ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือไร้ความสามรถ

3.      ไม่เป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา

4.      ไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา

5.      ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้

6.      ไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น

7.      หญิงหม้ายจะสมรสใหม่เมื่อการสมรสครั้งก่อนได้สิ้นสุดไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่

–          คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น

–          สมรสกับคู่สมรสเดิม

–          มีใบรับรองแพทย์ว่ามิได้ตั้งครรภ์

–          ศาลมีคำสั่งให้สมรสได้

8.      ชายหญิงที่มีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ ศาลอาจอนุญาตให้สมรสได้

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง

1.      คู่สมรสต้องไปปรากฏตัวต่อหน้านายทะเบียนทั้ง 2 คน

2.      บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวข้าราชการของคู่สมรส

3.      พยานบุคคล 2 คน ถ้าไม่มีนายทะเบียนจะหาให้แต่ต้องเสียเงินค่าช่วยการพยาน คนละ 2.50 บาท

4.      ถ้าคู่สมรสทั้ง 2 ฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เยาว์(อายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์) ถ้าบิดามารดาไม่ให้ความยินยอมด้วยตนเองให้นำหนังสือแสดงความยินยอมของบิดามารดาไปด้วย

5.      ค่าธรรมเนียมไม่ต้องเสีย เว้นแต่ช่วยการพยานที่นายทะเบียนหาให้คนละ 2.50 บาท

6.      คู่สมรสอาจขอให้นายทะเบียนแห่งท้องที่ที่จะประกอบพิธีสมรสไปจดทะเบียนสมรสนอกสถานที่ได้ โดยยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนพร้อมแจ้งความประสงค์และรายละเอียด ชื่อตัว ชื่อสกุล ของคู่สมรส ระบุวันเวลา สถานที่ที่จะให้ไปจดทะเบียน และเพื่อความสะดวกควรจัดยานพาหนะรับ-ส่งด้วย กรณีนี้ต้องเสียค่าธรรมเนียม 200 บาท หลักฐานที่ต้องนำไปแสดงเช่นเดียวกับการจดทะเบียนในสำนักทะเบียน

การสมรสที่เป็นโมฆียะ   

คำว่า “โมฆียะ” หมายถึง การกระทำนั้นยังคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะถูกเพิกถอน ดังนั้นการสมรสที่เป็นโมฆียะ จึงเป็นการสมรสที่ยังคงมีผลอยู่ตามกฎหมายจนกว่าจะมีการเพิกถอน

1. เหตุที่ทำให้การสมรสตกเป็นโมฆียะ

–  การสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขในเรื่องอายุของคู่สมรส และเงื่อนไขในเรื่องความยินยอมของบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง

– การสมรสโดยถูกกลฉ้อฉล หมายถึง การสมรสนั้นทำไปเพราะถูกคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ใช้อุบายหลอกลวงให้ทำการสมรส เช่น หลอกว่าตนเป็นคนมีฐานะดี แต่แท้จริงแล้วเป็นคนยากจน ดังนี้เป็นต้น แต่การใช้กลฉ้อฉลนี้จะต้องถึงขนาด คือถ้ามิได้มีการหลอกลวงแล้ว คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งจะไม่ทำการสมรสด้วย แต่ถ้ากลฉ้อฉลนั้นไม่ถึงขนาดการสมรสก็ ไม่ตกเป็นโมฆียะแต่ถ้ากลฉ้อฉลเกิดเพราะบุคคลที่ 3 การสมรสจะตกเป็นโมฆียะ เมื่อคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะรู้ถึงกลฉ้อฉลนั้นอยู่แล้วในขณะที่ทำการสมรส

– การสมรสได้ทำไปโดยถูกข่มขู่ การข่มขู่ หมายถึง การกระทำที่ในลักษณะบังคับ ให้เกิดความกลัวภัยจนทำให้อีกฝ่ายยอมทำการสมรสด้วย เช่น ขู่ว่าจะทำร้ายถ้าไม่ยอมไป จดทะเบียนด้วย เป็นต้น การข่มขู่นั้นจะต้องถึงขนาดด้วย กล่าวคือถ้าไม่มีการข่มขู่แล้วจะ ไม่มีการสมรสนั่นเอง และนอกจากนี้การข่มขู่ไม่ว่าคู่สมรสหรือบุคคลภายนอกเป็นผู้ข่มขู่ ถ้าถึงขนาดแล้วการสมรสย่อมเป็นโมฆียะทั้งนั้น

– การสมรสที่ได้กระทำไปโดยสำคัญผิดตัว กรณีนี้หมายความว่าตั้งใจจะสมรส กับคนคนหนึ่งแต่ไปทำการสมรสกับคนอีกคนหนึ่ง โดยเข้าใจผิด เช่น กรณีฝาแฝด

2. ผลของการสมรสที่เป็นโมฆียะ ดังที่กล่าวมาแล้วคือตราบใดที่ยังไม่มีการเพิกถอน การสมรสนั้นก็ยังมีผลตามกฎหมายทุกประการ และถ้าต่อมามีการเพิกถอนการสมรสแล้ว การสมรสนั้นก็สิ้นสุดลงนับแต่เวลาที่เพิกถอนเป็นต้นไป

3. ใครเป็นคนเพิกถอน ตามกฎหมายปัจจุบันกำหนดให้ศาลเท่านั้นที่จะเพิกถอนการสมรสได้โดยมีเหตุผลว่า เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานะของบุคคลที่มีผลกระทบต่อสังคมมาก การที่จะปล่อยให้คนทั่วไปเพิกถอนการสมรสได้เองแล้วย่อมจะเกิดปัญหาแน่ ๆ กฎหมายจึงให้องค์กรศาลเป็นผู้วินิจฉัยว่า การสมรสกรณีใดบ้างที่จะต้องถูกเพิกถอน แต่อย่างไรก็ดี การที่ศาลจะพิพากษาเพิกถอนได้ก็ต้องมีผู้ร้องขอต่อศาลก่อน ศาลจะยกคดีขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้ ซึ่งผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนนั้น กฎหมายก็ได้กำหนดตัวบุคคลได้

4. ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนได้ แยกพิจารณาได้ดังต่อไปนี้

4.1 ถ้าการสมรสเป็นโมฆียะเพราะฝ่าฝืนเงื่อนไขในเรื่องอายุของคู่สมรส ผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งมีความหมายรวมถึงบิดามารดาหรือผู้ปกครองของชายหญิงคู่สมรส และยังรวมถึงผู้มีสิทธิได้รับมรดกของคู่สมรสด้วย เพราะถ้าการสมรสมีผลอยู่ตนจะได้รับมรดกน้อยลง แต่ในกรณีบิดามารดานั้น ถ้าหากเป็นผู้ให้ความยินยอมเองด้วยแล้ว กฎหมายก็ห้ามร้องขอต่อศาล

4.2 ถ้าการสมรสเป็นโมฆียะเพราะขาดความยินยอมของบิดามารดาหรือ ผู้ปกครองแล้ว ผู้มีสิทธิร้องขอก็คือบิดามารดาหรือผู้ปกครองเท่านั้น

4.3 ถ้าการสมรสเป็นโมฆียะเพราะกลฉ้อฉล ผู้มีสิทธิร้องขอคือคู่สมรสฝ่ายที่ถูก หลอกเท่านั้น 4.4 ถ้าการสมรสเป็นโมฆียะเพราะการข่มขู่ ผู้มีสิทธิร้องขอก็คือคู่สมรสฝ่าย ที่ถูกข่มขู่เท่านั้น 4.5 ถ้าการสมรสเป็นโมฆียะเพราะสำคัญผิดตัว ผู้มีสิทธิร้องขอก็คือคู่สมรสฝ่ายที่สำคัญผิดเท่านั้น

5. ระยะเวลาขอให้ศาลเพิกถอน

5.1 ถ้าการสมรสเป็นโมฆียะเพราะฝ่าฝืนเงื่อนไขในเรื่องอายุต้องร้องขอ ให้ศาลเพิกถอนก่อนที่ชายหญิงจะมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ หรือก่อนที่หญิงมีครรภ์ ถ้าไม่ร้องขอภายในเวลาดังกล่าวการสมรสย่อมสมบูรณ์มาตลอด และไม่อาจร้องขอให้ศาลเพิกถอนได้ต่อไป

5.2 ถ้าการสมรสเป็นโมฆียะเพราะฝ่าฝืนเงื่อนไขในเรื่องความยินยอม ต้องร้องขอให้ศาลเพิกถอนก่อนที่ชายหญิงจะมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ หรือก่อนที่หญิงมีครรภ์ นอกจากนี้ในเรื่องนี้กฎหมายยังกำหนดอายุความไว้อีกด้วยคือ ต้องใช้สิทธิในอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการสมรสนั้น (อายุความ คือ ระยะเวลาที่จะต้องใช้สิทธิถ้าไม่ใช้ภายในกำหนด ก็ใช้ไม่ได้อีกแล้ว) 5.3 ถ้าการสมรสเป็นโมฆียะเพราะกลฉ้อฉล ระยะเวลาการขอให้ศาลเพิกถอน คือ ภายใน 90 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรได้รู้ถึงกลฉ้อฉลแต่ต้องไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันทำการสมรส

5.4 ถ้าการสมรสเป็นโมฆียะ เพราะถูกข่มขู่ ระยะเวลาขอให้ศาลเพิกถอนคือ ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่พ้นจากการถูกข่มขู่

5.5 ถ้าการสมรสเป็นโมฆียะเพราะการสำคัญผิดในตัวคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ระยะเวลาขอให้ศาลเพิกถอน คือ ภายใน 90 วันนับแต่วันทำการสมรส

6. ผลของการที่ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอน ถือว่าการสมรสสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอน ดังนั้น ความสัมพันธ์ต่าง ๆ ระหว่างสามีภริยาก็เป็นอันสิ้นสุดลง นับแต่วันที่ศาลพิพากษาเพิกถอนเป็นต้นไป และถ้าคู่สมรสฝ่ายที่ถูกฟ้องเพิกถอนนั้นรู้ถึงเหตุแห่งโมฆียะ ก็ต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนแก่อีกฝ่ายหนึ่งในความเสียหายที่ได้รับด้วย นอกจากนี้ ถ้าการเพิกถอนเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง ไม่มีทรัพย์สินพอเลี้ยงชีพ คู่สมรสฝ่ายที่ถูกฟ้องก็ต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่อีกฝ่ายด้วย

การสมรสที่เป็นโมฆะ

คำว่า “โมฆะ” นี้หมายความว่า เสียเปล่า ไม่มีผลใด ๆ ทางกฎหมายเลย ดังนั้น การสมรสที่เป็นโมฆะจึงไม่มีผลใด ๆ ตามกฎหมายเลย แต่เนื่องจากกฎหมายครอบครัว เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานะของบุคคล และเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน กฎหมายจึงกำหนดว่า การสมรสที่เป็นโมฆะนั้นโดยทั่วไปแล้ว บุคคลใดจะนำขึ้นมากล่าวอ้างไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะได้แสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะเสียก่อน ยกเว้นกรณีการสมรสซ้อนกฎหมายกำหนดให้ผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้น หรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้ ในกรณีที่กฎหมายไม่ได้ให้สิทธิในการกล่าวอ้างและศาลยังไม่พิพากษา แสดงความเป็นโมฆะของการสมรสชายหญิงคู่นั้นก็ยังเป็นสามีภริยากันอยู่ตามปกติ

1. เหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ

1.1 การสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไข เรื่องการห้ามสมรสซ้อน
1.2 การสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไข เรื่องการห้ามสมรสกับบุคคลวิกลจริต
1.3 การสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไข เรื่องการสมรสระหว่างญาติสนิท
1.4 การสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไข เรื่องความยินยอมของคู่สมรสเอง

2. ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ กฎหมายให้สิทธิแก่ “ผู้มีส่วนได้เสีย” หรือ “อัยการ” ก็ได้ คำว่า “ผู้มีส่วนได้เสีย หมายถึง ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ถ้าหากการสมรสนั้นยังไม่ถูกศาลสั่งแสดงความเป็นโมฆะ  เช่น ตัวคู่สมรสเอง หรือภริยาเดิมกรณีจดทะเบียนซ้อน

3. ผลเมื่อศาลได้แสดงความเป็นโมฆะแล้ว เมื่อศาลได้แสดงความเป็นโมฆะของการสมรสแล้ว คำพิพากษามีผลดังนี้

3.1 ในเรื่องทรัพย์สิน ถือว่าไม่มีความสัมพันธ์ใด ๆ ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตั้งแต่สมรส

3.2 ในเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างสามีภริยา กฎหมายเห็นว่าไม่มีทางที่จะให้กลับสู้สภาพเดิมได้ คือจะถือว่าไม่มีความสัมพันธ์ต่อกันเลยตั้งแต่แรกไม่ได้ ดังนั้นจึงให้มีผลนับแต่วันที่ศาลได้แสดงความเป็นโมฆะ แต่อย่างไรก็ตาม หากคู่สมรสฝ่ายที่สุจริตได้สิทธิใด ๆ มาจากการสมรสก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาก็ไม่เสียสิทธินั้นไป เช่น สิทธิในการรับมรดกของสามีที่เกิดจากการสมรสที่เป็นโมฆะย่อมไม่เสียไป หากตนสมรสโดยสุจริต

นอกจากนี้ถ้าหากชายหรือหญิงฝ่ายเดียวเป็นฝ่ายสมรสโดยสุจริต ฝ่ายนั้นก็ยังมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากฝ่ายที่ไม่สุจริตได้ เช่น ชายมาหลอกหญิงว่าตนไม่เคยมีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายมาก่อน กรณีนี้เมื่อศาลแสดงความเป็นโมฆะแล้ว หญิงสามารถเรียกค่าทดแทนจากชายได้ และถ้าฝ่ายที่สุจริตนั้นยากจนลง ไม่มีรายได้จากทรัพย์สินหรือจากงานที่เคยทำ ก่อนมีคำพิพากษาของศาลคู่สมรสฝ่ายนั้นก็ยังมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพได้อีกด้วย

3.3 ผลต่อบุตร เด็กที่เกิดระหว่างการสมรสที่เป็นโมฆะหรือเกิดภายใน 310 วัน นับแต่วันที่ศาลสั่งแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ กฎหมายสันนิษฐานว่า เป็นลูกของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็นสามี

ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา

ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา แบ่งได้ 2 ประการคือ ความสัมพันธ์ในทางทรัพย์สิน และความสัมพันธ์ส่วนตัว

1. ความสัมพันธ์ในทางทรัพย์สิน เมื่อชายหญิงคู่นั้นได้ทำการสมรสกันตามกฎหมายแล้ว ทรัพย์สินต่าง ๆ ของแต่ละฝ่าย ที่มีอยู่ก่อนสมรสหรือจะมีขึ้นภายหลังจากการสมรสก็ต้องมีการจัดระบบใหม่ ซึ่งกฎหมายก็ได้แยกทรัพย์สินออกเป็น ๒ ประเภท คือ

1.1 สินส่วนตัว (สินเดิม) เป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรสหรือเป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว
1.2 สินสมรส เป็นทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรส

2. ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างสามีภริยา เมื่อมีการสมรสกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ชายหญิงคู่นั้นก็ต้องมีความสัมพันธ์กันตามกฎหมาย คือ

1. ต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา
2. ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน ตามความสามารถและฐานะของตน
3. ภริยามีสิทธิใช้นามสกุลของสามีได้
4. ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถอีกฝ่ายหนึ่งย่อมเป็นผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณี

ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และบุตร

เด็กที่เกิดมาในระหว่างที่พ่อแม่ ยังคงเป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายใน ๓๑๐ วัน นับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง กฎหมายสันนิษฐานว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของชาย ผู้เป็นสามี

สิทธิหน้าที่ระหว่างบิดามารดา และบุตรชอบด้วยกฎหมาย

1.                  พ่อแม่ต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู และให้การศึกษาแก่บุตรตามสมควร ในระหว่างที่บุตรยังเป็นผู้เยาว์ (อายุไม่เกิน ๒๐ ปีบริบูรณ์) ถ้าบุตรบรรลุนิติภาวะแล้ว พ่อแม่ก็ไม่จำเป็นต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตร เว้นแต่บุตรจะเป็นคนพิการ และหาเลี้ยงตัวเองไม่ได้ พ่อแม่ก็ยังมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูต่อไป

2.                           บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูพ่อแม่

3.                            บุตรมีสิทธิใช้นามสกุลของพ่อ

4.                  บุตรจะฟ้องบุพการีของตน เป็นคดีแพ่ง หรือคดีอาญาไม่ได้ แต่สามารถร้องขอให้อัยการเป็นผู้ดำเนินคดีแทนได้ กฎหมายห้ามเฉพาะการฟ้องแต่ไม่ห้ามในกรณีที่บุตรถูกฟ้อง แล้วต่อสู้คดี กรณีนี้ย่อมทำได้

5.                  บุตรผู้เยาว์จะต้องอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของพ่อแม่โดยพ่อแม่มีอำนาจ ดังนี้
5.1 กำหนดที่อยู่ของบุตร
5.2 เมื่อบุตรทำผิดก็ลงโทษได้ตามสมควร
5.3 ให้บุตรทำงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป
5.4 เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่น ซึ่งกักบุตรของตนไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
5.5 มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุตรด้วยความระมัดระวัง

การสิ้นสุดการสมรส

เมื่อมีการสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว  การสมรสนั้นจะสิ้นสุดลงด้วยเหตุต่างๆดังนี้

1.      เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย

2.      เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอน เพราะการสมรสนั้นตกเป็นโมฆะ

3.      โดยการหย่า ซึ่งการหย่านั้นทำได้ 2 วิธี คือ

3.1 หย่าโดยความยินยอม คือ กรณีที่ทั้งคู่ตกลงจะหย่ากันได้เอง

3.2 หย่าโดยคำพิพากษาของศาล กรณีนี้คู่สมรสฝ่ายหนึ่งประสงค์จะหย่าแต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการหย่า ซึ่งต้องมีเหตุที่จะฟ้องหย่าตามที่กฎหมายกำหนด

การย้ายที่อยู่ วันศุกร์, ม.ค. 7 2011 

การย้ายที่อยู่

ผู้อยู่ในบ้านย้ายที่อยู่ออกจากบ้าน ให้แจ้งการย้ายออกภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ผู้อยู่ในบ้านย้ายออก หากไม่แจ้งภายในกำหนดมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

การย้ายออก
กรณีเจ้าบ้านมาดำเนินการด้วยตนเอง
– บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน (หรือบัตรประจำตัวข้าราชการฯ หนักงานองค์การของรัฐ)
– สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
กรณีได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน
– ผู้ได้รับมอบหมายมีชื่อในทะเบียนบ้าน
– บัตรประจำตัว หรือสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวของเจ้าบ้านในฐานะผู้มอบหมายและให้เจ้าบ้านลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง ในสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวฯ
– บัตรประจำตัวผู้แจ้งในฐานะผู้ที่ได้รับมอบหมาย
– สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
ผู้ที่ได้รับมอบหมายไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน
– นอกจากหลักฐานตามข้อ 1. แล้วจะต้องมีหนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน (ไม่มีแบบพิมพ์) ปรากฎข้อความชัดเจนว่าได้มอบหมายให้มาแจ้งย้ายที่อยู่แทน

การแจ้งย้ายออกโดยไม่ทราบที่อยู่ (ย้ายเข้าทะเบียนบ้านกลางของเขต)
เจ้าบ้านไม่ทราบว่าผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเป็นใครหรือไปอยู่ที่ใด ให้แจ้งการย้ายออกภายใน 30 วัน นับแต่วันครบ 180 วันโดยไม่ทราบที่อยู่ โดยใช้หลักฐาน
– บัตรประจำตัวของเจ้าบ้าน
– สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
– บัตรประจำตัวหรือสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวของเจ้าบ้าน
-ในฐานะผู้มอบหมายและให้เจ้าบ้านลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง ในสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวและบัตรประจำตัวผู้แจ้ง กรณีได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้านให้มาดำเนินการแทน

การย้ายออกจากทะเบียนบ้านกลาง
ผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านถูกย้ายโดยไม่ทราบที่อยู่ (ถูกย้ายเข้าทะเบียนบ้านกลาง) ประสงค์ที่จะย้ายออก (ทะเบียนบ้านกลางมิใช่ทะเบียนบ้านแต่เป็นทะเบียน ที่ใช้สำหรับลงรายการบุคคลที่ไม่อาจมีชื่อในทะเบียน บ้านได้ บุคคลที่มีรายการในทะเบียนบ้านกลางไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคัดและให้นายทะเบียนรับรองสำเนารายการ เพื่อนำไปอ้างอิงหรือใช้สิทธิต่าง ๆ เหมือนทะเบียนบ้านได้)
กรณีผู้ร้อง (เจ้าตัว) มาดำเนินการเอง
– บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวข้าราชการฯ หรือ พนักงานองค์การของรัฐ
– ถ้าบัตรประจำตัวประชาชนหาย ต้องมีใบแจ้งความและคัดสำเนาแจ้งความพร้อมทั้งหลักฐานอื่นที่มีรูปถ่ายมาแสดงด้วยอย่างใดอย่าง หนึ่ง เช่น
– ใบสุทธิ หรือใบ ร.บ. หรือปริญญาบัตร
– ใบอนุญาตขับขี่ฯ
– บัตรประจำตัวนักเรียน นิสิต นักศึกษา
– ส.ด.8, ส.ด.43
– หนังสือเดินทาง
กรณีมอบหมายให้ผู้อื่นมาดำเนินการย้าย
– หนังสือมอบหมายของผู้ประสงค์จะขอย้ายออก
– บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ประสงค์จะขอย้ายออก
– บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ได้รับมอบหมายให้มาดำเนินการย้ายออก

กรณีย้ายบุคคลที่ไม่บรรลุนิติภาวะ
– สูติบัตร
– บิดา หรือมารดาจะต้องเป็นผู้ดำเนินการขอย้ายเองพร้อมทั้งต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนมาแสดงด้วย
-กรณีไม่ปรากฏตามที่กล่าว ต้องดำเนินการสอบปากคำผู้มาแจ้งย้ายด้วย
– กรณีบุคคลต่างด้าวขอย้ายออกจะต้องมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวมาแสดง

การย้ายออกของบุคคลที่เดินทางไปต่างประเทศ
– เช่นเดียวกับการย้ายออก กรณีที่บุคคลเดินทางกลับจากต่างประเทศ – ผู้ย้ายที่อยู่ไปต่างประเทศตามระเบียบเดิมได้นำใบแจ้งการย้ายที่ อยู่มาขอย้ายเข้า นายทะเบียนจะดำเนินการเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้านที่ประสงค์จะย้ายเข้า หากเป็นใบแจ้งย้ายมีรหัสประจำตัว ประชาชนแล้ว นำใบแจ้งย้ายไปแจ้งย้ายเข้าในทะเบียนบ้านที่ประสงค์จะย้ายเข้าที่สำนักทะเบียนใดก็ได้ และหากเป็นใบแจ้งย้ายแบบเดิมที่ไม่มีเลขประจำตัวประชาชน จะดำเนินการเพิ่มชื่อกรณีการใช้หลักฐานใบแจ้งย้ายที่อยู่แบบเดิม
– บัตรประจำตัว (ถ้ามี)
– หนังสือเดินทางที่มีตราประทับลงตราวีซ่าเข้ามาในประเทศไทย
– สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
– ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ (ย้ายไปต่างประเทศตามระเบียบเดิม) หากสูญหายจะต้องแจ้งความและคัดสำเนาแจ้งความเพื่อขอออกใบแทนใบ แจ้งย้ายและเพิ่มชื่อให้ กรณีเช่นนี้จะต้องมีการสอบปากคำเจ้าบ้านและผู้ร้อง

หนังสือเดินทางที่มีตราประทับลงตราวีซ่าเข้ามาในประเทศไทย

การย้ายเข้า
ผู้ย้ายที่อยู่เข้าอยู่ในบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้งการย้ายเข้าภายใน 15 วันนับแต่วันที่ย้ายเข้าอยู่ในบ้าน หากไม่แจ้งภายในกำหนดมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

  • กรณีเจ้าบ้านมาดำเนินการด้วยตนเอง
    – บัตรประจำตัวของเจ้าบ้าน
    – สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
    – ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ตอนที่ 1 และ 2
  • กรณีได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน
    ผู้ได้รับมอบหมายมีชื่อในทะเบียนบ้าน

    – บัตรประจำตัว หรือสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวของเจ้าบ้านในฐานะผู้มอบหมายและให้เจ้าบ้านลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง ในสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัว
    – บัตรประจำตัวผู้แจ้งในฐานะผู้ได้รับมอบหมาย
    – สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
    – ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ตอนที่ 1 และ 2
    – ให้เจ้าบ้านลงลายมือชื่อในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ตอน 1 และ 2 ตรงช่องเจ้าบ้านผู้ยินยอมให้ย้ายเข้า
    ผู้ได้รับมอบหมายไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน
    – นอกจากหลักฐานตามข้อ 1 แล้ว จะต้องมีหนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน (ไม่มีแบบพิมพ์) ให้ปรากฏข้อความชัดเจนว่าได้มอบหมายให้มาแจ้งย้ายที่อยู่แทน

การแจ้งย้ายที่อยู่ปลายทาง
กฎหมายกำหนดให้ผู้ย้ายที่อยู่เป็นผู้แจ้งต่อนายทะเบียนเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ย้ายที่อยู่ หากมอบหมายแจ้งย้ายปลายทางจะต้องมี หนังสือมอบหมาย ปรากฎข้อความชัดเจนว่าบุคคลใดได้มอบหมายให้มาแจ้งการย้ายที่อยู่ปลายทางแทน และมอบหมายให้ย้ายที่อยู่บุคคลใดบ้าง ย้ายเข้าบ้านเลขที่ใด
หลักฐานที่ต้องนำมาแสดง
– บัตรประจำตัวของผู้ประสงค์จะย้ายปลายทาง
– บัตรประจำตัวของเจ้าบ้าน
– สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
– คำยินยอมของเจ้าบ้านเป็นหนังสือ
– เสียค่าธรรมเนียม 5 บาท

ใบแจ้งการย้ายที่อยู่สูญหายหรือชำรุดในสาระสำคัญ
กรณีสูญหาย ให้ผู้แจ้งดำเนินการแจ้งความและคัดสำเนาแจ้งความ

กรณีชำรุด ผู้แจ้งจะต้องนำใบแจ้งการย้ายที่ชำรุดมาคืนด้วย หลักฐานประกอบการแจ้ง ได้แก่ บัตรประจำตัวของผู้แจ้ง และสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน

การรับราชการทหาร วันศุกร์, ม.ค. 7 2011 

การรับราชการทหาร


การแจ้งขึ้นบัญชีทหารกองเกิน

ชายผู้มีสัญชาติไทย เมื่อมีอายุย่างเข้า 18 ปีบริบูรณ์ใน พ.ศ. ใด ให้ไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกินภายใน พ.ศ. นั้น ต่อสัสดีอำเภอที่ตนมีภูมิลำเนาทหารอยู่ ถ้าไม่สามารถไปลงบัญชีทหารกองเกินได้ด้วยตนเอง ต้องให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วและเชื่อถือได้เป็นผู้ดำเนินการแทน (อายุ 20 ปีบริบูรณ์) ภายในเดือนพฤศจิกายนของปีที่อายุย่างเข้า 18 ปี

บุคคลใดซึ่งยังไม่ได้ลงบัญชีทหารกองเกินที่อำเภอพร้อมกับคนปีเดียวกัน ถ้าอายุยังไม่ถึง 46 ปีบริบูรณ์ ต้องไปลงบัญชีทหารกองเกินเสียเช่นเดียวกับคนที่มีอายุย่างเข้า 18 ปีโดยต้องปฏิบัติภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สามารถปฏิบัติได้ ในกรณีนี้จะให้ผู้อื่นดำเนินการแทนไม่ได้ (พระราชบัญญัติ รับราชการทหาร มาตรา ๑๘)

เมื่อได้รับการลงบัญชีทหารกองเกินแล้ว นายอำเภอจะออกใบสำคัญ ส.ด. 9 ให้ไว้เป็นหลักฐาน

เมื่อได้ลงบัญชีทหารกองเกินแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่อำเภอที่ได้ลงบัญชีทหารกองเกินไว้ ภูมิลำเนาทหารมีได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น (พระราชบัญญัติรับราชการทหาร มาตรา ๕)

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง

1.      สูติบัตร

2.      บัตรประจำตัวประชาชนหรือใบแทน

3.      สำเนาทะเบียนบ้าน(กรณีบิดามารดาไม่ได้อยู่บ้านเดียวกันกับผู้ขอลงบัญชีทหารกองเกินให้นำสำเนาทะเบียนบ้านของบิดามารดาไปด้วย)

4.      กรณีบิดามารดาเป็นบุคคลต่างด้าวจะต้องนำใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของบิดามารดาไปด้วย

5.      กรณีเปลี่ยนชื่อตัว-ชื่อสกุล จะต้องนำใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อตัว-ชื่อสกุลไปแสดงด้วย

6.      กรณีบิดามารดาถึงแก่กรรมแล้ว ให้นำหลักฐานใบมรณบัตรไปแสดงด้วย

โทษของการฝ่าฝืนไม่ไปลงบัญชีทหารกองเกินภายในกำหนด

บุคคลใดไม่มาลงบัญชีทหารกองเกิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับไม่เกิน 300 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าบุคคลนั้นสำนึกในความผิดรีบไปแจ้งนายอำเภอเพื่อขอลงทะเบียนทหารกองเกินก่อนที่เจ้าหน้าที่จะยกเรื่องขึ้นพิจารณาความผิดก็จะถูกลงโทษในสถานเบาเพียงจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พระราชบัญญัติรับราชการทหาร มาตรา ๔๔)

การตรวจคัดเลือกทหารกองเกินให้เป็นทหารกองประจำการ (การเกณฑ์ทหาร)

ทหารกองเกินเมื่อมีอายุย่างเข้า 21 ปี ใน พ.ศ. ใด ต้องไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกที่อำเภอท้องที่ ซึ่งเป็นภูมิลำเนาทหารของตนภายในปี พ.ศ. นั้นและในเดือนตุลาคมของทุกปี อำเภอหรือเขตท้องที่จะประกาศให้ทหารกองเกินที่มีอายุย่างเข้า 21 ปี ในพ.ศ.นั้นไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกเข้ารับราชการทหารที่อำเภอหรือเขต

บุคคลใดไม่สามารถไปรับหมายเรียกด้วยตนเองได้ ต้องให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะซึ่งมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์แล้ว และพอเชื่อถือได้ไปรับหมายเรียกแทน (พระราชบัญญัติ รับราชการทหาร มาตรา ๒๕) แต่ต้องมีหนังสือมอบหมายของผู้ถูกเรียกถึงนายอำเภอหรือสัสดีเขตให้ผู้แทนนำมาแสดงด้วย

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง

1.      บัตรประจำตัวประชาชน

2.      ใบสำคัญทหารกองเกิน (ส.ด.9)

โทษของผู้ฝ่าฝืน

บุคคลใดไม่มารับหมายเรียกที่อำเภอ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 300 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าก่อนที่เจ้าหน้าที่จะยกเรื่องขึ้นพิจารณาความผิด บุคคลนั้นได้มาขอรับหมายเรียกด้วยตนเอง หรือให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะที่เชื่อถือได้มารับแทน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พระราชบัญญัติรับราชการทหาร มาตรา ๔๔)

เมื่อถึงกำหนดวันตามหมายเรียก ที่กำหนดวันให้ทหารกองเกินทุกคนต้องไปทำการตรวจคัดเลือกเพื่อเข้ารับราชการทหารกองประจำการนั้น ทหารกองเกินซึ่งถูกเรียกต้องมาให้คณะกรรมการตรวจเลือกทำการตรวจเลือก โดยนำใบสำคัญทหารกองเกิน บัตรประชาชน ประกาศนียบัตร หรือหลักฐานการศึกษามาแสดงด้วย (พระราชบัญญัติรับราชการทหาร มาตรา ๒๗)

ทหารกองเกิน ซึ่งจะถูกเรียกมาตรวจคัดเลือก เพื่อเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการนั้น ต้องมีอายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่ถึง 30 ปีบริบูรณ์ (พระราชบัญญัติรับราชการทหาร มาตรา ๓๒)

บุคคลใดหลีกเลี่ยงขัดขืนไม่ให้คณะกรรมการตรวจเลือกทำการตรวจ เลือก หรือมาแต่ไม่เข้าทำการตรวจเลือกหรือไม่อยู่จนเสร็จการตรวจเลือก หรือหลีกเลี่ยงขัดขืนด้วยประการใดๆ เพื่อจะมิให้ได้เข้ารับราชการทหารกอง ประจำการต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี (พระราชบัญญัติรับราชการทหาร มาตรา ๔๕)

ทหารกองเกินซึ่งได้รับหมายเรียกให้ไปทำการตรวจเลือก เพื่อเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการ เมื่อถึงวันกำหนดให้ไปทำการตรวจเลือก ด้วยบุคคลนั้นมีเหตุจำเป็นบางประการไม่สามารถไปตรวจเลือกในวันนั้นได้ ก็ไม่มีความผิดตามกฎหมายแต่อย่างใด

เหตุจำเป็นดังกล่าวได้แก่

1. ข้าราชการซึ่งได้รับคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยปัจจุบันทันด่วน ให้ไปรับราชการทหารอันสำคัญ หรือไปราชการต่างประเทศ โดยคำสั่งของ เจ้ากระทรวง

2. นักเรียนซึ่งไปศึกษาต่างประเทศตามที่ระบุในกฎกระทรวง

3. ข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ราชการ หรือโรงงานอื่นใด ในระหว่างที่มีการรบ การสงคราม และอยู่ในความควบคุมของกระทรวงกลาโหม

4. บุคคลซึ่งกำลังปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยทหารในราชการสงคราม

5. เกิดเหตุสุดวิสัย

6. ไปเข้าตรวจเลือกที่อื่น

7. ป่วย โดยให้ผู้บรรลุนิติภาวะและเชื่อถือได้มาแจ้งต่อคณะกรรมการตรวจเลือกในวันตรวจเลือก (กรณีตามข้อ ๑, ๒, ๓ หรือ ๔ ต้องได้รับการผ่อนผันเฉพาะการจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วย) (พระราชบัญญัติรับราชการทหาร มาตรา ๒๗)

ทหารกองเกินผู้ใดที่ถูกคัดเลือกเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการ แล้ว ตามปกติจะต้องเข้ารับราชการมีกำหนดเวลา 2 ปี แต่อาจจะรับราชการน้อยกว่า 2 ปี ก็ได้ถ้ามีเหตุยกเว้นตามที่กฎหมายกำหนดไว้ (พระราชบัญญัติรับราชการทหาร มาตรา ๙) ได้แก่

1.                  ผู้สำเร็จจากการฝึกวิชาทหารตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 1 ให้รับราชการ ทหารกองประจำการ 1 ปี 6 เดือน แต่ถ้าเป็นผู้ที่ได้รับขอเข้ารับราชการในกองประจำการ ก็ให้รับราชการทหารกองประจำการเพียง 1 ปี

2.                  ผู้สำเร็จการฝึกวิชาทหารตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 2 ให้รับราชการทหารกองประจำการ 1 ปี แต่ถ้าเป็นผู้ที่ได้ร้องขอเข้ารับราชการในกองประจำการ ก็ให้รับราชการทหารกองประจำการเพียง 6 เดือน

3.                  ผู้สำเร็จการฝึกวิชาทหารตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรการฝึกวิชาทหารตั้งแต่ชั้นปีที่ 3 ขึ้นไป ให้ขึ้นทะเบียนกองประจำการแล้วปลดเป็นทหารกองหนุน โดยมิต้องเข้ารับราชการในกองประจำการ (กฎกระทรวงฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๐๘) ออกตามความใน พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗)

ทหารกองเกินซึ่งถูกคัดเลือกเข้าเป็นทหารกองประจำการแล้ว ถ้ารับราชการครบ 2 ปี หรือน้อยกว่านั้นตามที่ได้รับยกเว้นแล้ว ก็จะถูกปลดเป็นทหารกองหนุนต่อไป (พระราชบัญญัติรับราชการทหาร มาตรา ๙ วรรค ๒)

บุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้ารับราชการเป็น ทหารกองประจำการ


ทหารกองเกินหรือทหารกองหนุนซึ่งได้รับการผ่อนผันไม่ต้อง เรียกเข้ารับราชการทหารในการเรียกพล เพื่อตรวจสอบเพื่อฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อม คือ

1.       พระภิกษุ สามเณร

2.      นักบวชในพุทธศาสนาแห่งนิกายจีนหรือญวน

3.      นักบวชศาสนาอื่น ซึ่งมีหน้าที่ประจำในกิจของศาสนาและไม่ เรียกเข้ารับราชการทหารกองประจำการในยามปกติ ตามกฎกระทรวงที่ออก ตามมาตรา ๑๔ (๒)

4.      สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ

5.      บุคคลซึ่งอยู่ในระหว่างการฝึกวิชาทหาร ตามหลักสูตรที่กระทรวงกลาโหมกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร

6.      นักเรียนโรงเรียนเตรียมทหารของกระทรวงกลาโหม

7.      นักศึกษาของศูนย์กลางอบรมการศึกษาผู้ใหญ่ของกระทรวง ศึกษาธิการ

8.      นักศึกษาของศูนย์ฝึกการบินพลเรือนของกระทรวงคมนาคม

9.      นักเรียนซึ่งออกไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศและได้รับการ ผ่อนผันตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๒๗ (๒)

10. ครูซึ่งประจำการสอนหนังสือหรือวิชาการต่าง ๆ ที่อยู่ในความควบคุมของกระทรวง ทบวง กรม หรือราชการส่วนท้องถิ่นและซึ่งไม่เรียก เข้ารับราชการทหารกองประจำการใน
ยามปกติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๑๔ (๕)

11. พนักงานวิทยุของกระทรวง ทบวง กรม หรือองค์การของ รัฐบาล

12. ข้าราชการกลาโหมพลเรือน ลูกจ้าง หรือคนงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้เฉพาะผู้ซึ่งทำงานโดยใช้วิชาหรือฝีมือ

13. ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการฝ่ายรัฐสภา ข้าราชการการเมือง ข้าราชการกลาโหมพลเรือน ข้าราชการฝ่ายอัยการ ข้าราชการฝ่ายตุลาการ ข้าราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญ ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งรับเงินเดือนประจำและเป็นข้าราชการหรือพนักงาน ตั้งแต่ระดับ 5 หรือเทียบเท่าขึ้นไปแล้วแต่กรณี

14. ข้าราชการซึ่งได้รับคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยปัจจุบันทันด่วน ให้ไปราชการอันสำคัญยิ่ง หรือไปราชการต่างประเทศโดยคำสั่งของเจ้ากระทรวง

15. หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอหรือกิ่งอำเภอ

16. ปลัดอำเภอ

17. ตำรวจประจำการ

18. กำนัน

19. ผู้ใหญ่บ้าน

20. สารวัตรกำนัน

21. แพทย์ประจำตำบลซึ่งมิใช่ทหารกองหนุน

22. นายกเทศมนตรีหรือเทศมนตรี

23. ผู้ซึ่งทำงานประจำในตำแหน่งหน้าที่สำคัญในราชการเทศบาล
องค์การของรัฐบาล หรือในกิจการเกี่ยวกับการอุตสาหกรรม เกษตรกรรม พาณิชยกรรม การขนส่ง การธนาคาร หากขาดไปจะทำให้กิจการเสียหายและจะหาผู้อื่นแทนไม่ได้ ตามที่กระทรวงกลาโหมกับกระทรวง ทบวง กรม เจ้าหน้าที่จะได้ตกลงกัน

24. บุคคลที่อยู่ในระหว่างการศึกษาตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๒๙ (๓)

25. บุคคลซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเห็นสมควรผ่อนผันเป็นพิเศษ

การขอมีบัตรประจำตัวประชาชน วันศุกร์, ม.ค. 7 2011 

บัตรประจำตัวประชาชนเป็นเอกสารที่บ่งชี้ให้ทราบว่าเป็นใคร มีถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ที่ไหน อายุเท่าใด และมีหน้าตาเป็นอย่างไร จึงเป็นเอกสารที่จำเป็นต้องมีเพื่อใช้แสดงตนในการติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ

คนไทยทุกคนเมื่อมีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์  แต่ไม่เกิน 17 ปีบริบูรณ์ และมีชื่อในทะเบียนบ้าน ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน โดยยื่นคำขอทำบัตรประชาชนได้ที่ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอของท้องที่ที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ เว้นแต่จะมีกฎหมายยกเว้นไม่ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน

กฎหมายได้ยกเว้นบุคคลบางประเภทที่ไม่ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน เช่น สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป องคมนตรี ข้าราชการ สมาชิกรัฐสภา ภิกษุ สามเณร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นักโทษ เป็นต้น

การยื่นขอทำบัตรประชาชนต้องยื่นภายใน 60 วันนับแต่วันที่อายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ เช่น ตัวอย่าง นาย ก เกิด 1 มกราคม 2519 ครบ 15 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคม 2534 นาย ก ต้องยื่นคำขออย่างช้าภายในวันที่ 2 มีนาคม 2534 มิฉะนั้น นาย ก จะต้องถูกปรับไม่เกิน 500 บาท (การนับเวลา 60 วันนี้นับเป็นวันๆ ไม่ใช่นับทีละ 2 เดือน)

บัตรประชาชนมีอายุ 6 ปี เมื่อบัตรหมดอายุให้ใช้บัตรนั้นต่อไปได้ จนถึงวันครบรอบวันเกิด เมื่อครบรอบวันเกิดแล้วภายใน 60 วันนับแต่วันครบรอบวันเกิด ต้องไปขอเปลี่ยนบัตรใหม่ หากฝ่าฝืนถูกปรับไม่เกิน 200 บาท โดยบัตรประจำตัวประชาชนจะมีข้อความระบุวันที่ออกบัตรและวันที่บัตรหมดอายุไว้ชัดเจน

สำหรับผู้ถือบัตรที่มีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ สามารถใช้บัตรประจำตัวประชาชนนั้นได้ตลอดชีวิต โดยไม่ต้องยื่นคำขอเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนใหม่

กรณีคนต่างด้าว ต้องยื่นขอมีบัตรประชาชนภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้สัญชาติไทย

เมื่อมีการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล ผู้ถือบัตรต้องขอเปลี่ยนบัตรภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับให้เปลี่ยนชื่อตัว หรือสกุล ฝ่าฝืนถูกปรับไม่เกิน 200 บาท

เมื่อบัตรสูญหายหรือถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ผู้ถือบัตรต้องขอเปลี่ยนบัตรภายใน 90 วันนับแต่วันที่หาย ถูกทำลาย หรือชำรุด ฝ่าฝืนถูกปรับไม่เกิน 200 บาท

ในกรณีพ้นจากสภาพการยกเว้นที่ไม่ต้องมีบัตรประชาชน ต้องขอมีบัตรประชาชน ภายใน 60 วัน นับแต่วันพ้นสภาพนั้นๆ

หลักฐานที่ต้องนำไปในการขอทำบัตรประจำตัวประชาชน ได้แก่

1.      ทะเบียนบ้าน

2.      ใบสูติบัตร

3.      หนังสือสำคัญการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุลทั้งของตนเองและของ บิดามารดา (ถ้ามี)

4.      ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว (ถ้ามี)

5.      บัตรเดิมที่ชำรุด(กรณีขอเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อบัตรเดิมชำรุด)

6.      ใบแจ้งความบัตรหาย(กรณีขอมีบัตรใหม่ เพราะบัตรเดิมหายหรือถูกทำลาย)

7.      บัตรเดิม(กรณีขอมีบัตรใหม่ เพราะบัตรเดิมหมดอายุ)

ผู้ถือบัตรจะต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนหรือใบรับ(ใบเหลือง)ติดตัวไว้เสมอเพื่อพร้อมที่จะแสดงต่อเจ้าพนักงาน หากไม่สามารถแสดงบัตรประจำตัวประชาชนเมื่อเจ้าพนักงานขอตรวจได้ ย่อมมีความผิด

ข้อควรทราบ

ผู้ขอมีบัตรซึ่งเป็นชายอายุระหว่าง 22 ปีถึง 30 ปี ต้องแสดงหลักฐานการผ่านการตรวจเลือกทหารหรือการขอผ่อนผันในทุกกรณีที่ยื่นคำขอมีบัตร โดยหลักฐานที่แสดงต้องผ่านการรับรองจากสัสดีอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือเขตที่ผู้ขอมีบัตรมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านปัจจุบัน

การศึกษา วันศุกร์, ม.ค. 7 2011 

การศึกษา  

ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเล่าเรียนของเยาวชน คือ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กำหนดว่าการศึกษาในระบบมี 2 ระดับคือ การศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาระดับอุดมศึกษา

การศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งจัดไม่น้อยกว่า 12 ปี ก่อนระดับอุดมศึกษา จัดให้มีการศึกษาภาคบังคับจำนวน 9 ปี โดยรัฐเป็นผู้รับผิดชอบดูแลคุณภาพของการศึกษาตลอดจนค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งมีเป้าหมายให้เยาวชนไทยมีการศึกษาทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับพ่อแม่ทุกๆคน ถ้ารักและหวังดีกับลูกอย่างจริงใจ เมื่อลูกถึงเกณฑ์ที่จะเข้าโรงเรียนได้ก็ควรพาลูกไปสมัครเรียนให้เรียบร้อย ซึ่งคุณสมบัติของเด็กตลอดจนกฎเกณฑ์ต่างๆที่พ่อแม่ควรปฎิบัติตามให้ถูกต้องตามกฎหมายมดังนี้

1.      เด็กในเกณฑ์เข้าเรียน เด็กทุกคนที่มีอายุย่างเข้าปีที่ 7 จนอายุย่างเข้าปีที่ 16 จะต้องเข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เว้นแต่สอบได้ชั้นปีที่ 9 ของการศึกษาภาคบังคับ หมายความว่า ถ้าเด็กจบชั้นปีที่ 9 ก่อนอายุย่างเข้า 16 ปี เด็กนั้นก็ไม่จำเป็นต้องเรียนในโรงเรียนต่อไปอีก จะออกจากโรงเรียนโดยไม่เรียนหนังสือตืช่อไปอีกก็ได้

2.      การนับอายุเด็ก ให้นับตามปีปฏิทิน ซึ่งหมายความว่า เด็กเกิดพ.ศ.ใดให้นับอายุ 1 ปีทันทีไม่ว่าจะเกิดต้นปีหรือปลายปี และให้นับปีถัดไปเป็นปีที่ 2

ผู้อำนวยการเขตหรือทางอำเภอจะประกาศให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองไปแจ้งความตามรายการสำรวจเด็กที่ต้องเข้าเรียนในชั้นประถมศึกษา ซึ่งพ่อแม่หรือผู้ปกครองนั้นจะต้องแจ้งการศึกษา ณ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอที่เด็กมีภูมิลำเนาอยู่ในระหว่างเดือนธันวาคมถึเดือนมกราคมปีถัดไป

หลักฐานที่ต้องเตรียมไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ศึกษาธิการ

–          สูติบัตรหรือใบแทน

–          สำเนาทะเบียนบ้าน

ข้อยกเว้น


เด็กที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้าเรียนโดยผู้ปกครองร้องขอ ได้แก่

–     มีความบกพร่องในทางร่างกายและจิตใจ หรือเป็นโรคเรื้อรัง โรคติดต่อ

–          เด็กที่ไม่สามารถไปโรงเรียนด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ซึ่งไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้

–          ต้องหาเลี้ยงผู้ปกครองซึ่งทุพพลภาพไม่มีหนทางเลี้ยงชีพ และไม่มีผู้อื่นเลี้ยงดูแทน

ข้อพึงปฏิบัติเกี่ยวกับการศึกษาของเด็ก

–          พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ ของเด็กให้ถูกต้องตรงกับทะเบียนบ้านอยู่เสมอ

–          ควรเก็บรักษาสูติบัตรไว้ให้ดี

–          เมื่อเด็กเข้าเรียนแล้วต้องตรวจสอบเอกสารทางทะเบียนที่โรงเรียนให้ถูกต้องควรกับทะเบียนบ้านแลละสูติบัตร หากผิดพลาดต้องรีบแก้ไขให้ถูกต้อง

โทษ

–          ไม่แจ้งความตามรายการสำรวจเด็กตามกำหนด อาจถูกปรับไม่เกิน 100 บาท

–          ถ้าพ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็กเคยถูกปรับมาแล้วยังขัดขืนอยู่อีก ต่อไปต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การตาย วันพฤหัสบดี, ม.ค. 6 2011 

การตาย

คนเราทุกคนเกิดมาต้องตายด้วยกันทุกคน ผิดกันอยู่แต่ว่าจะตายช้าหรือตายเร็ว เท่านั้น แต่ก่อนนี้ปัญหาที่ว่าตายเมื่อใดนั้น ไม่สู้จะมีปัญหาแต่อย่างใด เพราะเมื่อหัวใจหยุดเต้นและไม่หายใจแล้ว ก็ถือว่าคนคนนั้นตายแล้ว แต่ปรากฎว่าในปัจจุบันนี้ความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์มีมากขึ้น หัวใจที่หยุดเต้นแล้วก็อาจทำให้เต้นใหม่อีกได้ โดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เข้าช่วย หรือการหายใจที่หยุดแล้ว ก็อาจทำให้หายใจได้ใหม่อีกได้ เหล่านี้เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ปัญหาที่ว่าคนเราตายเมื่อไรนั้นจึงเริ่มมีปัญหามากขึ้น หลักการเดิมที่ว่า คนเราตายเมื่อหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้นจึงยังไม่เพียงพอ ยังจะต้องอาศัยหลักการอื่น ๆ อีก ในเรื่องนี้มีความเห็นของนักวิชาการท่านหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นความคิดเห็นที่น่าจะถูกต้อง ท่านได้ให้ความเห็นในเรื่องที่ว่าคนเราตายเมื่อใดนั้นไว้ดังนี้คือ การที่จะพิจารณาว่าคนเราตายเมื่อใดนั้น ให้ดูการทำงานของร่างกาย 3 ส่วนคือ สมอง หัวใจ และการหายใจ กล่าวคือ สมองหยุดทำงาน โดยตรวจด้วยการวัดคลื่นสมอง หัวใจหยุดเต้น และหายใจเองไม่ได้ ทั้ง 3 ประการนี้ประกอบกันจึงจะถือว่าคนคนนั้นได้ตายแล้ว

เราจะรู้กันไปทำไมว่าคนเราตายเมื่อใด เมื่อคนคนหนึ่งตายไปแล้วนั้น มรดกของเขาย่อมตกไปยังลูกหลาน พ่อแม่ พี่น้อง ซึ่งในทางกฎหมายเราเรียกบุคคลที่ตายนั้นว่า “เจ้ามรดก” ส่วนลูกหลาน พ่อแม่ พี่น้อง ที่รับมรดกมานั้น เราเรียกว่า “ทายาท” สำหรับในเรื่องการรับมรดกนั้นมีหลักอยู่ว่าทายาทที่มีสิทธิจะรับมรดกได้นั้น จะต้องเป็นบุคคลที่มีชีวิตอยู่ในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย กล่าวคือทายาทคนใดตายก่อนเจ้ามรดกแล้ว เขาก็จะไม่มีสิทธิที่จะรับมรดกจากเจ้ามรดก ดังนั้นปัญหาในเรื่องที่ว่า ตายเมื่อใดนั้นจึงมีความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะว่าถ้าทายาทคนใดตายหลังเจ้ามรดกแม้เพียง 5 นาที เขาก็จะมีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดก

1.คนตายในบ้าน กรณีคนตายในบ้านมีหลักในการปฏิบัติดังนี้

1.1 การแจ้งตาย ผู้มีหน้าที่แจ้งตายคือ “เจ้าบ้าน” หรือผู้อยู่ในฐานะเจ้าบ้าน หรือผู้พบเห็นคนตายเป็นผู้แจ้งตาย

1.2 ระยะเวลาในการแจ้งตาย เจ้าบ้านต้องแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ที่มีการตายเกิดขึ้น ภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ตายแต่ถ้าไม่มีเจ้าบ้าน ให้ผู้พบศพเป็นผู้แจ้ง

ตัวอย่าง นายดำบิดาของนายแดงได้ถึงแก่ความตายด้วยโรคชราในบ้าน ดังนี้เราก็ต้องดูว่าใครเป็นเจ้าบ้าน ถ้านายแดงเป็นเจ้าบ้าน นายแดงก็มีหน้าที่ต้องแจ้ง แต่ถ้าบิดานายแดงเป็นเจ้าบ้าน ก็เป็นกรณีของการที่ไม่มีเจ้าบ้าน ดังนั้น ถ้าแดงเป็นผู้พบศพ แดงก็ต้องเป็นผู้มีหน้าที่แจ้งการตายของนายดำ ต่อนายทะเบียนท้องที่

2. คนตายนอกบ้าน กรณีคนตายนอกบ้านมีหลักในการปฏิบัติดังนี้

2.1 แจ้งตาย ผู้มีหน้าที่แจ้งตายคือ ผู้ที่ไปกับผู้ตายหรือผู้พบศพแจ้งต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่มีการตายเกิดขึ้น หรือท้องที่ที่พบศพ หรือท้องที่ที่พึงจะแจ้งได้ในโอกาสแรก

2.2 ระยะเวลาในการแจ้ง จะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ภายใน 24 ชั่วโมง หรือจะแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่สะดวกกว่าก็ได้

ตัวอย่าง นายแดงกับนายขาวเดินทางไปเที่ยวเขาใหญ่ จังหวัดนครนายกด้วยกัน ปรากฎว่านายขาวเป็นไข้ป่าตาย ในกรณีนี้นายแดงเป็นผู้ที่ไปด้วยกับนายขาวผู้ตาย ดังนั้น นายแดงจึงเป็นผู้มีหน้าที่ต้องแจ้งการตาย โดยแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่จังหวัดนครนายก หรือจะแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่เขาใหญ่ซึ่งสะดวกกว่าก็ได้

3.ลูกตายในท้อง หมายถึง ลูกที่อยู่ในครรภ์มารดาเป็นเวลาเกิน 28 สัปดาห์ และคลอดออกมาโดยไม่มีชีวิต ดังนั้น ถ้าลูกนั้นอยู่ในครรภ์มารดาไม่ถึง 28 สัปดาห์ แม้จะคลอดออกมาโดยไม่มีชีวิตก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องของลูกตายในท้อง

กรณีคนตายนอกบ้านมีหลักในการปฏิบัติดังนี้

–          ถ้าลูกตายในท้องเกิดขึ้นในบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาคลอด นายทะเบียนก็จะออกบัตรลูกตายในท้องไว้เป็นหลักฐาน

–       ถ้าลูกตายในท้องเกิดขึ้นนอกบ้าน ให้มารดาแจ้งต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่ลูกตายในท้องนั้น หรือแจ้งต่อท้องที่ที่อาจแจ้งได้ในโอกาสแรกภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาคลอด หรือจะแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่สะดวกกว่าก็ได้

กรณีที่มีการตายเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการตายในบ้านหรือนอกบ้านก็ตาม เมื่อผู้มีหน้าที่ต้องแจ้งได้ไปแจ้งการตายต่อเจ้าหน้าที่ผู้รับแจ้งแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะออกสารที่เราเรียกว่าใบมรณบัตร ให้ ซึ่งมรณบัตรนี้ก็คือเอกสารแสดงถึงการตายของบุคคลที่นายทะเบียนผู้รับแจ้ง การตายออกให้แก่ผู้แจ้งเพื่อนำไปแสดงต่อผู้เกี่ยวข้องนำไปจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตาย เป็นต้น

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง

1. กรณีคนตายในบ้าน

–          บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้านหรือผู้แจ้งและผู้ตาย(ถ้ามี)

–          สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่ผู้ตายมีชื่ออยู่

–          หนังสือรับรองการตาย (ถ้าผู้ตายมีผู้รักษาพยาบาลโดยอาชีพ)กรณีที่นายทะเบียนสงสัยว่า อาจเป็นการตายด้วยโรคติดต่ออันตรายหรือตายโดยผิดธรรมดา อาจออกมรณบัตรไว้ก่อน จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงาน ซึ่งมมีหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่ออันตราย หรือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ

2. กรณีคนตายนอกบ้าน

–          บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ไปกับผู้ตายหรือผู้พบผู้ตายซึ่งเป็นผู้แจ้งตาย(ถ้ามี)

–          สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน

3. กรณีตายที่โรงพยาบาล

–          ต้องนำหนังสือรับรองการตายจากโรงพยาบาลไปแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งที่โรงพยาบาลตั้งอยู่เพื่อขอให้ออกใบมรณบัตร

–          ต้องนำใบมรณบัตรพร้อมด้วยหลักฐานที่ต้องแสดงกรณีคนตายในบ้านหรือคนตายนอกบ้านไปแสดงต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งที่ผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่

การเตรียมข้อมูลเพื่อแจ้งการตาย

นอกจากจะเตรียมหลักฐานที่ต้องไปแสดงแล้ว ผู้แจ้งจะต้องทราบและเตรียมข้อมูลเพื่อแจ้งการตายดังนี้

–          ชื่อตัว ชื่อสกุล สัญชาติ เพศของผู้ตาย

–          ตายเมื่อ วัน เดือน ปีใด

–          ที่อยู่ของผู้ตายและสถานที่ตาย บ้านเลขที่ หมู่ที่ ตรอก ซอย ถนน ตำบล/แขวง

อำเภอ/เขต จังหวัด

–          สาเหตุที่ตาย

–          ชื่อตัว ชื่อสกุล และสัญชาติของบิดามารดาผู้ตาย

–          ศพของผู้ตายจะดำเนินการอย่างไร(เก็บ ฝัง เผา) ที่ไหน เมื่อไหร่ (ถ้ารู้)

โทษ สำหรับผู้ที่มีหน้าที่ที่จะต้องแจ้งการตาย แต่ฝ่าฝืนไม่แจ้งภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดอาจจะถูกปรับไม่เกิน 200 บาท

การตั้งชื่อ – ชื่อสกุล วันพฤหัสบดี, ม.ค. 6 2011 

การตั้งชื่อ – ชื่อสกุล

“ชื่อตัว” และ “ชื่อสกุล” เป็นเครื่องกำหนดให้รู้ว่าบุคคลนั้นคือใคร มีภูมิลำเนาอยู่ที่ไหน และมีสถานะเป็นชายหรือหญิง เป็นผู้เยาว์หรือบรรลุนิติภาวะ เป็นโสดหรือมีคู่สมรสแล้ว เป็นต้น ชื่อบุคคลจึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังปรากฏในพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ.2505 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่2 พ.ศ.2530) ที่กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับชื่อบุคคลไว้โดยเฉพาะ

ชื่อ คือ สิ่งที่แสดงให้ทราบว่าเป็นผู้ใด และปกติชื่อจะแสดงให้ทราบถึงเพศ ผู้เป็นเจ้าของชื่ออีกด้วย

บุคคลหนึ่งอาจมีชื่อได้ 3 ชนิด กล่าวคือ

– ชื่อตัว หมายความว่า ชื่อประจำบุคคลแต่ละคน ซึ่งอาจเป็นชื่อที่ตั้งมาตั้งแต่เกิด หรืออาจมาเปลี่ยนใหม่ภายหลังก็ได้

– ชื่อรอง หมายคามว่า ชื่อประกอบถัดจากชื่อตัว ตั้งขึ้นเพื่อให้ทราบแน่นอนว่าเป็นผู้ใด เพราบ่อยครั้งที่บุคคลมีชื่อตัวซ้ำกัน แต่คนไทยมักไม่นิยมตั้งชื่อรองกัน

– ชื่อสกุล หมายความว่า ชื่อประจำวงศ์สกุล มีขึ้นเพื่อให้สามารถทราบอย่างชัดเจนว่าเป็นเชื้อสายหรือเครือญาติใคร บุคคลอาจมีชื่อตัวซ้ำกันได้ หากมีชื่อสกุลประกอบอยู่ด้วย ย่อมสามารถบ่งชี้ได้ว่าบุคคลที่มีชื่อตัวซ้ำกันนั้นหมายถึงใคร

หลักเกณฑ์การตั้งชื่อตัวและชื่อรอง

–          ต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย พระนามของพระราชินี หรือราชทินนาม

–          ต้องไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย

–          ผู้ได้รับหรือเคยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ แต่ได้ออกจากบรรดาศักดิ์นั้นโดยมิได้ถูกถอน จะใช้ราชทินนามตามบรรดาศักดิ์เป็นชื่อตัวหรือชื่อรองก็ได้

–          ชื่อหนึ่งให้มีคำรวมกันไม่เกิน 5 พยางค์ (เดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 3 พยางค์)

–          ต้องมีที่มาหรือความหมายที่ดี ซึ่งความหมายในที่นี้มิได้จำกัดเฉพาะที่ปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานเท่านั้น แต่ให้หมายรวมถึงพจนานุกรมที่ใช้กันอยู่ทั่วไป และเป็นชื่อที่ตรงตามเพศของเจ้าของ เช่น หากเป็นผู้ชายไม่ควรที่จะตั้งชื่อที่อ่านหรือฟังดูแล้วเข้าใจว่าเป็นเพศหญิง หากเป็นผู้หญิงก็ไม่ควรที่จะตั้งชื่อที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นผู้ชาย

หลักเกณฑ์การตั้งชื่อสกุล

–          ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธยหรือพระนามของพระราชินี

–          ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระราชทินนาม (เว้นแต่เป็นราชทินนามของตนหรือของบุพการีหรือผู้สืบสันดาน)

–          ไม่ซ้ำกับชื่อสกุลที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว

–          ไม่ซ้ำกับชื่อสกุลที่พระมหากษัตริย์พระราชทาน

–          ไม่มีคำหรือความหมายที่หยาบคาย

–          มีพยัญชนะไม่เกิน 10 พยัญชนะ เว้นแต่เป็นการใช้พระราชทินนามเป็นชื่อสกุล ชื่อสกุลควรมีความหมายเหมาะสมตามหลักภาษาไทยด้วย

การใช้ชื่อสกุลของผู้หญิง

–          ผู้หญิงที่สมรสแล้วให้ใช้ชื่อสกุลของสามีหรือของตนเองได้

–          ผู้หญิงที่เป็นหม้ายโดยการหย่ากับสามี จะต้องกลับไปใช้ชื่อสกุลเดิมของตนเอง หรือใช้นามสกุลของสามีได้ หากได้รับการยินยอม

–          ผู้หญิงที่เป็นหม้ายโดยการที่สามีตาย จะยังคงชื่อสกุลของสามีหรือจะกลับไปใช้ชื่อสกุลเดิมของตนเองก็ได้

การเปลี่ยนชื่อตัว

บุคคลที่ประสงค์จะเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อรอง หรือชื่อสกุล จะต้องยืนคำร้องต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ตนเองมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หากนายทะเบียนพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดก็จะอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อตัว ชื่อรองหรือจดทะเบียนชื่อสกุลใหม่ได้ แล้วออกหนังสือมอบให้เก็บไว้เป็นหลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อรอง หรือการจดชื่อทะเบียนใหม่ เพื่อใช้อ้างอิงหรือนำไปขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขชื่อตัว ชื่อรอง หรือชื่อสกุลในเอกสารสำคัญต่างๆ เช่น ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ สมุดคู่ฝากเงินธนาคาร เป็นต้น

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง

–          บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขอเปลี่ยนหรือบัตรประจำตัวประชาชนของบิดามารดา (กรณีที่เปลี่ยนชื่อให้บุตร)

–          สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่มีชื่อผู้ขอเปลี่ยนชื่อ

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดงการขอเปลี่ยนชื่อสกุลกรณีสมรส

–          บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ร้อง

–          สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน

–          ใบสำคัญการสมรส

การเกิด วันอังคาร, ม.ค. 4 2011 

การเกิด

การเกิดเป็นจุดเริ่มต้นของสภาพบุคคล และเป็นจุดเริ่มต้นที่กฎหมายเข้ามามีบทบาท เมื่อมีเด็กเกิดในครอบครัว จะต้องแจ้งการเกิดตามกฎหมายที่ได้กำหนดหน้าที่ที่จะต้องแจ้งการเกิดดังต่อไปนี้

1.เด็กเกิดในบ้าน หมายถึง การที่หญิงตั้งครรภ์และได้คลอดลูกในบ้านของตนเอง กรณีที่เด็กเกิดในบ้านมีหลักการปฏิบัติดังนี้

1.1 แจ้งเกิด เมื่อหญิงตั้งครรภ์ และได้คลอดลูกในบ้านของตนเอง ผู้มีหน้าที่แจ้งเด็กเกิดคือ “เจ้าบ้าน” หรือตามกฎหมายก็คือ ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัว อาจจะเป็นผู้อยู่ในฐานะเจ้าของบ้าน หรือหากเช่าบ้านคนอื่น ก็คือผู้อยู่ในฐานะผู้เช่าหรือผู้อยู่ในฐานะอื่นๆ อย่างเช่น กรณีที่เจ้าของบ้านยกบ้านให้อยู่ฟรีๆ ผู้ที่ได้รับการยกให้อยู่ก็เป็นเจ้าบ้านได้เหมือนกันนอกจากเจ้าบ้านแล้ว บิดาหรือมารดาของเด็กเป็นผู้มีหน้าที่แจ้งเช่นเดียวกัน

1.2 ระยะเวลาในการแจ้งเกิด จะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ที่เด็กเกิดภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เกิด เช่น เด็กเกิดวันที่ 13 มกราคม 2543 ก็จะต้อง แจ้งภายใน 15 วัน คืออย่างช้าวันที่ 28 มกราคม เป็นต้น

2. เด็กเกิดนอกบ้าน หมายถึง เกิดในที่ใดๆ ก็ตามที่ไม่ใช่บ้านของตน เช่น เกิดที่บ้านของญาติหรือในป่า กรณีที่เด็กเกิดนอกบ้านมีหลักการปฏิบัติดังนี้

2.1 แจ้งเกิด ผู้ที่มีหน้าที่แจ้งการเกิด คือ บิดาหรือมารดาของเด็ก โดยต้องแจ้งแก่นายทะเบียนท้องที่ที่คนเกิดนอกบ้าน หรือท้องที่ที่จะพึงแจ้งได้นับแต่วันที่เกิด

2.2 ระยะเวลาในการแจ้งเกิด บิดาหรือมารดาจะต้องแจ้งภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เกิด แต่หากไม่สามารถแจ้งแก่นายทะเบียนในท้องที่ที่เด็กเกิดได้ ภายใน 15 วัน เช่น เกิดน้ำท่วมอย่างหนักเป็นเวลานานไม่อาจไปแจ้งท้องที่ที่เด็กเกิดได้ทันเวลา ก็สามารถแจ้งแก่นายทะเบียนท้องที่อื่น ๆ ได้ แต่ต้องไม่เกิน 30 วันนับแต่วันที่เกิด

ตัวอย่าง หญิงตั้งครรภ์ และหลงเข้าไปในป่า ต่อมาคลอดลูก จะเห็น ได้ว่าหญิงหรือมารดาของเด็กไม่อาจจะแจ้งแก่นายทะเบียนท้องที่ที่เด็กเกิดหรือ ท้องที่ใด ๆ ที่สามารถจะแจ้งได้ในโอกาสแรกภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่เกิด เพราะยังคงอยู่ในป่า เมื่อผ่านไป ๒๐ วัน มารดาสามารถออกจากป่าได้แล้ว ดังนั้นวันที่อาจแจ้งได้ คือ วันที่มารดาออกจากป่า หรือจะแจ้งวันอื่นก็ได้ แต่ภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่เด็กเกิด

3. เด็กเกิดที่โรงพยาบาล หมายถึง เด็กที่มารดาไปคลอดที่โรงพยาบาล กรณีที่เด็กเกิดที่โรงพยาบาลมีหลักการปฏิบัติดังนี้

3.1 แจ้งเกิด โรงพยาบาลจะออกใบรับรองการเกิดให้บิดาหรือมารดา ซึ่งถือเป็นบริการของโรงพยาบาล เพื่อนำไปแจ้งการเกิดที่สำนักงานทะเบียนท้องถิ่นที่โรงพยาบาลนั้นตั้งอยู่

3.2 ระยะเวลาในการแจ้งเกิด จะต้องแจ้งเกิดต่อนายทะเบียนท้องที่ที่เด็กเกิดภายใน 15 วัน นับตั้งแต่เด็กเกิด

4. เด็กเกิดใหม่ซึ่งถูกทิ้งไว้ กรณีเด็กเกิดใหม่ซึ้งถูกทิ้งไว้มีหลักการปฏิบัติดังนี้

4.1 แจ้งเกิด ให้ผู้พบเด็กเกิดใหม่ซึ่งถูกทิ้งไว้ให้ผู้นั้นมีหน้าที่แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ประชาสงเคราะห์ในท้องที่ที่ผู้นั้นพบเด็กโดยเร็ว และเจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะแจ้งว่ามีเด็กเกิดต่อนายทะเบียนที่ผู้รับแจ้ง

4.2 ระยะเวลาในการแจ้งเกิด จะต้องแจ้งเกิดต่อนายทะเบียนท้องที่โดยเร็วเมื่อพบเด็กเกิดใหม่ซึ่งถูกทิ้งไว้

หลักฐานการเกิด

เมื่อแจ้งการเกิดแล้ว นายทะเบียนจะออกสูติบัตร (ใบแจ้งเกิด) ให้แก่ผู้แจ้งไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งสูติบัตรจะแสดงสัญชาติ วัน เดือน ปีเกิด ชื่อบิดา มารดา อีกทั้งควรแจ้งชื่อของเด็กที่เกิดด้วย และถ้าประสงค์จะเปลี่ยนชื่อใหม่ ก็ให้แจ้งต่อนายทะเบียนภายใน 6 เดือนนับ แต่เกิด

โทษ ผู้มีหน้าที่แจ้งเกิด ถ้าฝ่าฝืนไม่ทำตามหน้าที่ ย่อมมีความผิด อาจถูก ปรับได้ไม่เกิน 1,000 บาท

สถานที่แจ้งเกิดต่อนายทะเบียนท้องที่

–          เด็กที่เกิดในเขตเทศบาล ให้แจ้งที่สำนักทะเบียน ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานเขตเทศบาลนั้น

–          เด็กที่เกิดนอกเขตเทศบาล ให้แจ้งที่สำนักทะเบียนตำบล(ที่ว่าการอำเภอหรือที่สำนักทะเบียนผู้ว่าราชการจังหวัด เช่น เขตกรมทหาร เป็นต้น

–          เด็กที่เกิดในเขตกรุงเทพมหานคร ให้แจ้งที่สำนักทะเบียนท้องถิ่น ตั้งอยู่ที่สำนักงานเขต

–          เด็กซึ่งเป็นบุตรของคนสัญชาติไทยที่เกิดในต่างประเทศ ถ้าต้องการให้บุตรมีสัญชาติไทยต้องไปแจ้งต่อสถานกงสุลไทยหรือสถานฑูตไทย ณ ประเทศนั้นๆ เนื่องจากสถานกงสุลไทยหรือสถานฑูตไทยเป็นสำนักทะเบียนในต่างประเทศ

หลักฐานที่ต้องนำไปแจ้ง

1.      กรณีเกิดในบ้าน

–          บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้านและของบิดามารดาเด็ก

–          สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน

2.      กรณีเกิดนอกบ้าน

–          บัตรประจำตัวประชาชนของมารดาเด็ก

–          สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน

–          บัตรประจำตัวผู้ที่ได้รับมอบหมาย(กรณีมารดาเด็กไม่ได้ไปแจ้งเกิดด้วยตนเอง)

3.      กรณีเกิดที่โรงพยาบาล

–          บัตรประจำตัวประชาชนของบิดามารดาเด็กและผู้แจ้ง(กรณีบิดามารดาไม่สามารถไปแจ้งได้ด้วยตนเอง)

–          สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่จะนำเด็กเข้า

–          หนังสือรับรองการเกิดของผู้รักษาพยาบาลโดยอาชีพ

–          อายุ สัญชาติ